การผลิตและแปรรูปเจียวกู่หลาน

การผลิตและแปรรูปเจียวกู่หลาน
Production and Process of Jiaougulans


    ที่ท่านเห็นขายกันเป็นแคปซูลแบบนี้ มาดูกันว่า กว่าจะได้มา เค้าทำกันอย่างไร ผ่านขั้นตอนการปลูกอย่างไรบ้าง มาดูกันครับ




    ปัญจขันธ์ หรือ มีชื่อจีนว่า เจียวกู่หลาน (สมุนไพรอมตะ) มีชื่อญี่ปุ่นว่า อะมาซาซูรู (ชาหวานจากเถา) และมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า  Gynostemma pentaphyllum  Makino เป็นพืชในวงศ์  Cucurbitaceae  เป็นพืชล้มลุกชนิดเถา   เลื้อยขนานกับพื้นดิน และมีมือที่อยู่ตรงข้ามกับใบสามารถเกาะยึดพื้นผนัง หรือ ตาข่าย ที่สามารถทำให้เถาเลื้อยขึ้นบนที่สูงได้  รากของเจียวกู่หลานจะออกจากข้อที่สัมผัสกับพื้นดิน  ประเภทเดียวกับแตงกวาและตำลึง  มีใบ 3 – 5 ใบ ด้านบนและด้านล่างใบมีขนสีขาวปกคลุม  เป็นพืชที่สามารถขึ้นได้ดีตามธรรมชาติ ตามป่าในสภาพที่มีความชื้นสูงและอากาศเย็น  และในสภาพพื้นที่แสงแดดไม่ร้อนจัดเกินไป  ส่วนใหญ่จะพบมากในแถบภาคเหนือของประเทศไทย  ส่วนที่นำมาใช้คือส่วนเหนือดินของพืชที่มีอายุ 4 – 5 เดือนขึ้นไป  สมุนไพรชนิดนี้มีศักยภาพเชิงพาณิชย์ และมีประโยชน์ทั้งเป็นยาและเป็นผลิตภัณฑ์สุขภาพ  สามารถนำมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพร และมีรายงานการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ทั้งด้านเคมี  เภสัชวิทยา และพืชวิทยามากมาย  ที่สนับสนุนการใช้สมุนไพรชนิดนี้  เช่น  ปัญจขันธ์ มีสารสำคัญชื่อ Gypenosides เป็นสารประเภทไตรเทอร์ปีนซาโปนิน (triterpene saponins) ที่พบในโสม (Panax  ginseng)(อ้างอิงจากสถาบันวิจัยสมุนไพร  กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข) ข้อมูลการวิจัยของนักวิจัยชาวจีนและญี่ปุ่น  พบว่า สารจำพวก Saponin  ซึ่งมีอยู่ไม่น้อยกว่า  80  ชนิด จากผลวิจัยในห้องปฏิบัติการพบว่า ปัญจขันธ์ มีสารที่มีฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระ ช่วยให้นอนหลับ  ลดระดับไขมันในเลือด  เสริมระบบภูมิคุ้มกัน  ยับยั้งการเจริญของเซลมะเร็งบางชนิด  ต้านการอักเสบ  และลดระดับความดันโลหิตสูง  รวมทั้งลดระดับน้ำตาลในเลือด  เป็นต้น ปัจจุบันเจียวกู่หลาน  หรือ ปัญจขันธ์ สามารถนำมาทำการขยายพันธุ์  โดยการปลูกเป็นแปลงทดลองที่สถานีวิจัยดอยปุย  สถาบันค้นคว้าและพัฒนาระบบนิเวศเกษตร  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  จ. เชียงใหม่ เป็นการปลูกในแปลง 2 ลักษณะ คือการปลูกในแปลงให้ต้นเลื้อยไปกับพื้นดินในโรงเรือนที่มีหลังคาพลาสติกคลุม เปรียบเทียบกับการปลูกในโรงเรือนที่มีหลังคาพลาสติกคลุมพร้อมกับตาข่ายกั้น และปิดรอบเพื่อให้ต้นเจียวกู่หลานเกาะยึดขึ้นบนตาข่าย  ผลจากการปลูกเปรียบเทียบ 2 ลักษณะ พบว่าวิธีการปลูกต้นเจียวกู่หลานในโรงเรือนที่มีหลังคาพลาสติกคลุมและมี ตาข่ายกั้นปิดรอบช่วยทำให้ได้ปริมาณต้นเจียวกู่หลานเลื้อยเกาะมากขึ้น ต้นเจริญเติบโตเร็ว ใบมีขนาดใหญ่มากกว่าการปลูกแบบให้ต้นเลื้อยไปกับพื้นดิน ซึ่งสะดวกต่อการเก็บเกี่ยวและการทำความสะอาด ก่อนการนำต้นเจียวกู่หลานมาทำการอบแห้ง ปลอดจากการปนเปื้อนเชื้อโรคจากพื้นดิน โดยน้ำหนักจากต้นเจียวกู่หลานสด 10 กิโลกรัมเมื่อนำไปทำการอบให้แห้งแล้วจะได้เจียวกู่หลานแห้งโดยเฉลี่ย 1.1-1.5 กิโลกรัม ซึ่งมากกว่าการปลูกแบบให้เลื้อยไปกับพื้นดิน ในปัจจุบันสถานีวิจัยดอยปุยได้ทำการแปรรูปเจียวกู่หลานอบแห้งเป็น 2 ลักษณะ คือการป่นเป็นผงบรรจุในซองขนาดเล็กปริมาณ  1.5 กรัมสะดวกกับการชงกับน้ำร้อนดึ่มรวมทั้งการเก็บรักษา  และอีกลักษณะหนึ่งคือการอบแห้งแบบเป็นข้อหรือท่อนบรรจุใส่ถุงพลาสติกปริมาณ 40 กรัม  พร้อมกับการทดลองวิธีการเก็บรักษา  เพื่อศึกษาและวิจัยถึงคุณประโยชน์ต่อการนำไปบริโภค  เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อร่างกายและสุขภาพต่อไป ในอนาคต

การปลูก  2  วิธี
    วิธีที่  1  ใช้ต้นเจียวกู่หลานปักชำ  ในแปลงขนาด  1X 10 ตารางเมตร ภายใต้โรงเรือนที่มีหลังคาพลาสติกคลุมให้ต้นเจียวกู่หลานเลื้อยขนานไปกับ พื้นดิน
    วิธีที่  2  ใช้ต้นเจียวกู่หลานปักชำ  ในแปลงขนาด1X 10 ตารางเมตร ภายใต้โรงเรือนที่มีหลังคาพลาสติกคลุม และมีมุ้งลวด หรือตาข่ายกั้นรอบโรงเรือนให้ต้นเจียวกู่หลานสามารถเลื้อยยึดเกาะบนตาข่าย




การดูแลรักษา
    1.เตรียมพื้นที่โดยการขึ้นแปลงและพรวนดินใส่ปุ๋ยคอกให้ทั่วทั้งแปลงก่อนการปลูกต้นเจียวกู่หลาน
    2.ทำการให้น้ำหลังจากการปลูกอย่างสม่ำเสมอโดยเฉลี่ยวันละ 1 ครั้ง
    3.ใส่ปุ๋ยคอกหลังจากพืชเจริญเติบโตอายุ 2-3 เดือน
    4. จัดยอดของต้นเจียวกู่หลานให้เลื้อยเกาะกับผนังหรือตาข่าย (ปลูกในสภาพโรงเรือนที่มีตาข่ายปิดกั้น)
    5. คอยดูแลกำจัดวัชพืชตลอดระยะเวลาของการปลูก




ลักษณะทั่วไปของต้นเจียวกู่หลาน
    ปัญจขันธ์  หรือ  มีชื่อจีนว่า  เจียวกู่หลาน เป็นพืชวงศ์ Cucurbitaceae ซึ่งเป็นพืชวงศ์เดียวกับแตงกวาและตำลึง  มีชื่อทางพฤกษศาสตร์ว่า  Gynostemma  pentaphyllum  Makino  เป็นพืชล้มลุกชนิดเถาเลื้อยขนานกับพื้นดิน   รากงอกออกจากข้อมีใบ 3-5 ใบด้านบนและด้านล่างของใบมีขนสีขาวปกคลุม  มีมือที่อยู่ตรงข้ามกับใบปลายแยกเป็น 2 แฉก สามารถยึดเกาะกับพื้นผนังหรือตาข่ายและเลื้อยขึ้นบนที่สูงได้  ใบเป็นใบประกอบ  เรียงตัวสลับ  ไม่มีหูใบ  ดอกช่อชนิด  raceme  ดอกแยกเพศอยู่บนต้นเดียวกัน   ดอกตัวผู้มีกลีบเลี้ยง 5 กลีบ  สีเขียวมีขนปกคลุมกลีบดอก 5 กลีบ โคนกลีบเชื่อมติดกันสีขาวอมเหลืองมีขนปกคลุมเกสรตัวผู้ 5 อัน filament เชื่อมติดกันเป็นมัด  ดอกตัวเมีย  มีกลีบเลี้ยงและกลีบดอกเหมือนดอกตัวผู้  รังไข่ 1อัน แบบ inferior ovary  มี  3 carpel  3  locule  ภายในแต่ละ  locule  มี  1 ovule  ติดแบบ  axile  placentation   style  3-4  อัน มี  stigma  แยกเป็น 2 แฉก  ผล  แบบ  berry  ทรงกลม  ผิวสีเขียว  เมื่อแก่จัดเป็นสีเขียวเข้มถึงดำ  ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง  0.5-0.6  เซนติเมตร   (ผลงานวิจัยของมูลนิธิโครงการหลวง  ประจำปี  2545)




การแปรรูปเจียวกู่หลาน
    1.ทำการตัดต้นเจียวกู่หลานเหนือพื้นดินที่มีอายุตั้งแต่ 4-5 เดือนขึ้นไปนำมาชั่งน้ำหนักสดและล้างน้ำให้สะอาดรวมทั้งแยกเศษวัชพืชและใบ ที่แห้งออก
    2. นำต้นเจียวกู่หลานมาทำการหั่นและตัดเป็นท่อนๆขนาด 2-3 เซนติเมตรโดยแยกทำแต่ละโรงเรือน
    3. นำชิ้นส่วนของต้นเจียวกู่หลานที่ตัดแล้วแต่ละโรงเรือนมาทำการนวดให้เกิดฟอง โดยผสมเกลือป่น ปริมาณ 5 กรัมต่อน้ำหนักสดเจียวกู่หลาน 1 กิโลกรัม
    4. นำเจียวกู่หลานที่ผ่านการนวดแล้วไปผึ่งให้หมาด ก่อนที่จะนำไปอบให้แห้งในตู้ที่ควบคุมอุณหภูมิ 60-70 องศาเซลเซียสใช้ระยะเวลาในการอบแห้ง 24 ชั่วโมง
    5.ในการอบแห้งเจียวกู่หลานต้องคอยกลับหรือสลับชั้นวางเพื่อให้ความร้อนภายในตู้อบกระจายได้อย่างทั่วถึง
    6. นำเจียวกู่หลานที่ผ่านการอบแห้งแล้วมาทำการชั่งน้ำหนักรวมโดยแยกแต่ละโรงเรือน  ผึ่งให้เย็นก่อนจะคัดแยกและบรรจุใส่บรรจุภัณฑ์เพื่อจำหน่าย

  
เป็นอย่างไรบ้างครับ ดูยุ่งยากไหมครับ
แต่เราบรรจุใส่แคปซูลให้ท่านเรียบร้อยแล้วครับ ^^ 



ขอบคุณข้อมูลจากสถานีวิจัยดอยปุย สถาบันค้นคว้าและพัฒนาระบบนิเวศเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์